ประวัติโครงการ พสวท.

 
 
          โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคครราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ที่ปรึกษาของโครงการ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 

1. ความเป็นมา

    วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและยิ่งนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจ ที่มั่นคงมักจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง จึงกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ
    เมื่อพิจารณาถึงสภาพการผลิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย พบว่าผู้มีความรู้ ความสามารถสูงเป็นพิเศษทางวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อใน คณะวิทยาศาสตร์น้อยลงทุกปี ส่วนใหญ่จะเลือกศึกษาในสาขาที่ให้ผลตอบแทนเป็นรายได้ที่ ค่อนข้างสูง เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สภาพเช่นนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการได้แก่สถานภาพทางด้านสังคม อาชีพ รายได้บรรยากาศในการทำงานไม่เอื้อหรือจูงใจให้ผู้มีความสามารถสูงหันมาประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือ ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะขาดผู้มีความสามารถสูงในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
    รัฐบาลจึงมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการ พสวท. และได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2527 - 2533 และระยะที่ 2 2534 - 2539 ส่วนระยะที่ 3 พ.ศ. 2540 - 2544 อยู่ในระหว่าง ดำเนินการ และเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าผลการดำเนินงานสองระยะแรกได้ผลดี จึงมีมติ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 ให้โครงการ พสวท. เป็นงานประจำตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
2. วัตถุประสงค์
    ผลิตผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับศึกษา วิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น และเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาประเทศ

3. เป้าหมาย
    ได้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ ในสาขาที่ ขาดแคลน และเป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ ปีละ 180 คน

4. การดำเนินงาน
    การดำเนินงานโครงการ พสวท. มีหน่วยงานร่วมรับผิดชอบดังนี้
    (1) กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมสามัญศึกษา และสถาบันส่งเสริมการสอน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
    รับผิดชอบงานในระดับมัธยมศึกษา โดยกำหนดโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์ของโครงการ พสวท. และมีหน้าที่คัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดหาอาจารย์ ที่ปรึกษา ตลอดจนดำเนินงานจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโปรแกรมเสริมและกิจกรรมพิเศษ
    (2) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
    รับผิดชอบในระดับอุดมศึกษา โดยกำหนดมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นศูนย์ของโครงการ พสวท. และมีหน้าที่คัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการในระดับอุดมศึกษา จัดหาอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดจนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมและกิจกรรมพิเศษ
    (3) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
    จัดเตรียมอัตราตำแหน่ง แหล่งงาน เพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการ พสวท. และพิจารณาแนวทางเพื่อเสริมให้การวิจัยของบุคลากรดังกล่าวมีศักยภาพสูงสุด รวมทั้งติดตามประเมินผลการ ปฏิบัติงาน 
    (4) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
    ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และเป็นหน่วยงานของบประมาณและจัดส่งไปยัง หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการ ตลอดจนประสานงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โครงการ พสวท. เพื่อให้งานของโครงการ พสวท. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5. การบริหารงาน
    การบริหารงานโครงการ พสวท. ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการดังนี้

   คณะที่ 1 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มี ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ให้รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีหน้าที่ดังนี้
    1.     กำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับหลังสำเร็จการศึกษา
    2.     เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานโครงการ พสวท. ให้บรรลุตามนโยบาย วัตถุประสงค์ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ     
    3.     แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ในการดำเนินงานโครงการ พสวท. ได้ตามความเหมาะสม

    คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษา มีปลัดหรือรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    รับผิดชอบดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาเกี่ยวกับ
    -     การคัดเลือกบุคคลเข้าโครงการ พสวท.
    -     การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนในโครงการ พสวท.
    -     การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการสำหรับ
        นักเรียน ในโครงการ พสวท.
    -     การพัฒนาบุคลากรที่ร่วมรับผิดชอบดำเนินงานโครงการ พสวท.    
    -    การวิจัย ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ พสวท.    

    คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับอุดมศึกษา มีปลัดหรือรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    รับผิดชอบดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะกำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาเกี่ยวกับ
    -     การคัดเลือกบุคคลเข้าโครงการ พสวท.
    -     การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สำหรับนิสิต นักศึกษาในโครงการ พสวท.
    -     การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการ สำหรับ
        นิสิต นักศึกษาในโครงการ พสวท.
    -     การพัฒนาบุคลากรที่ร่วมรับผิดชอบดำเนินงานโครงการ พสวท.
    -    การวิจัย ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ พสวท.

   คณะที่ 4 คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับหลังสำเร็จการศึกษา มีปลัดหรือรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    1.     ประสานงานการจัดเตรียมอัตราตำแหน่ง แหล่งงานที่มีการวิจัยและพัฒนา ให้สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถตรงกับสาขาวิชาของผู้สำเร็จการศึกษา     
    2.     ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการศึกษาตามโครงการ พสวท. ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ
    3.     จัดหาแหล่งทุนอุดหนุนในการศึกษาวิจัย คิดค้นงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้ผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติงานแล้วได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างสูงสุด
    4.     สนับสนุนให้นักวิจัยโครงการ พสวท. ได้เข้าร่วมงานกับนักวิจัยระดับอาวุโสที่มี ชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ

    คณะที่ 5 คณะอนุกรรมการทางวิชาการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษา ตามโครงการ พสวท. มีรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 
    1.     กำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของนักวิจัยที่สำเร็จ การศึกษาตามโครงการ พสวท. 
    2.     พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ และจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการวิจัยให้แก่นักวิจัย
    3.     ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของนักวิจัยที่ปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ 
    4.     พิจารณามาตรการและแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานวิจัย และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ แก่นักวิจัย เพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อการทำงานได้
    5.     จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของนักวิจัยที่สำเร็จ การศึกษาตามโครงการ พสวท. เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับหลังสำเร็จการศึกษา

6. ศูนย์โครงการ พสวท. ปัจจุบัน
ศูนย์โรงเรียน ศูนย์มหาวิทยาลัย
1. บดินทรเดชา  (สิงห์  สิงหเสนี) 1. คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. สามเสนวิทยาลัย 2. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ศรีบุณยานนท์ 3. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. พระปฐมวิทยาลัย 4. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
5. ยุพราชวิทยาลัย 5. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. พิษณุโลกพิทยาคม 6. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร
7. แก่นนครวิทยาลัย 7. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
8. สุรนารีวิทยา 8. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
9. หาดใหญ่วิทยาลัย 9. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
10. เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช 10. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
 
 
7. การคัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าโครงการ พสวท.

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
    ทางโครงการฯ จะจัดให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ทั่วประเทศ ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เข้าโครงการ พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุก ๆ ปี ปีละ 100 คน กระจายไปศึกษาตามศูนย์โรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ โดยมีหลักสูตรโปรแกรมเสริมวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ มีกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ การฝึกงานและการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และได้ศึกษาต่อเนื่องในคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่ศูนย์ หรืออาจจะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาเอก หรือปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ จึงจะเข้าปฏิบัติงาน

ระดับอุดมศึกษา
    ทางโครงการ พสวท. จะจัดให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เข้าโครงการ พสวท ระดับปริญญาตรีทุก ๆ ปี ปีละ 100 คน และรับต่อเนื่องจากศูนย์โรงเรียนโครงการ พสวท.อีกปีละ 80 คน รวมทั้งสิ้น 180 คนต่อปี กระจายไปศึกษาตามศูนย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดย นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ โดยมีกิจกรรม เสริมหลักสูตร เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ระดับอุดมศึกษา การนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา ดูงาน การร่วมประชุมวิชาการ และอาจจะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ จึงจะเข้าปฏิบัติงานได้

8. สาขาวิชาที่จะให้ศึกษา
1. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ศึกษาในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์
2. ระดับปริญญาตรี ศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
3. ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ ตามความถนัดของนักศึกษา และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบ

9. เงื่อนไขและข้อผูกพัน
    1.    นักเรียน นักศึกษาโครงการ พสวท. ทุกระดับจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ถ้าต่ำกว่า 3.00 อาจจะต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนทุน โดยจะต้องชดใช้ทุนหรือไม่ชดใช้ทุนอยู่ที่ดุลยพินิจของอนุกรรมการ ระดับอุดมศึกษา
    2.     เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐเป็นระยะเวลา 1 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนศึกษาภายในประเทศ และ 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนศึกษาต่อ ต่างประเทศ หากนับเวลาชดใช้ทุนมากกว่า 10 ปี จะกำหนดให้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนเพียง 10 ปี

10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    ได้บุคคลที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อปฏิบัติงานวิจัย และพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
    1.     หน่วยงานวิจัยและพัฒนาหรือหน่วยงานวิชาการขององค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐบาล มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มผลผลิตตลอดจนสามารถปรับปรุงเทคโนโลยี ที่ได้รับการถ่ายทอดจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศเพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
    2.     เกิดการวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจน ประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของประเทศ
    3.     ประเทศชาติไม่ขาดแคลนอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่มีความสามารถชั้นนำทางด้านงานวิจัย และการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้แก่ เยาวชนไทยในอนาคต โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ศึกษาทางสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์

11. ทุนการศึกษา
    ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาในโครงการ พสวท. จะได้รับทุนการศึกษาตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ